เศรษฐกิจพอเพียง

๑. ข้อเท็จจริง
       ๑.๑ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๔๕ – ๒๕๔๙) ได้อัญเชิญปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาประเทศ โดยยึดหลักทางสายกลางและความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนการใช้ความรู้ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และมีคุณธรรมเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจและการกระทำ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกระดับนำหลักปรัชญาฯ ไปเป็นพื้นฐานและแนวทางในการดำเนินชีวิตในด้านต่างๆ อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน ประชาชนอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข สังคมมีความเข้มแข็ง และประเทศชาติมั่นคง
       ๑.๒ อย่างไรก็ดี เนื่องจากในปัจจุบัน ยังมีความเข้าใจที่ไม่ชัดเจนและมีการตีความที่
หลากหลายเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงเสนอให้ริเริ่มการสร้างขบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสานต่อ ความคิดและเชื่อมต่อการขยายผล แนวทางการนำเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ ที่มีอยู่อย่างหลากหลายในปัจจุบัน รวมทั้งเพื่อจุดประกายให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่การนำหลักปรัชญาฯไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติในทุกภาคส่วนของสังคมอย่างจริงจัง
       ๑.๓ สำนักงานฯ ได้เสนอ (ร่าง) การสร้างขบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ต่อคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณา ในการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ ๗/๒๕๔๖ เมื่อวันจันทร์ที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๖ และคณะกรรมการฯ มีมติให้ความเห็นชอบต่อ (ร่าง) ดังกล่าว ว่าเป็นเรื่องที่ดี ควรสนับสนุน โดยมีข้อเสนอแนะให้เน้นการมีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม วิธีการที่หลากหลายในการสร้างความรู้ความเข้าใจ การวัดผลสำเร็จเชิงคุณภาพควบคู่ไปกับเชิงปริมาณ และให้ความเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้คณะกรรมการฯ เพื่อเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนฯต่อไป
๒. สาระสำคัญ
๒.๑ เป้าหมาย
       การสร้างขบวนการขับเคลื่อนฯ มีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างกระแสสังคมให้มีการนำเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้เป็นกรอบความคิดหรือส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ในหมู่ประชาชนทุกภาคส่วน และทุกระดับ โดยมีวัตถุประสงค์ของการขับเคลื่อนฯ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง สนับสนุนประชาชนทุกภาคส่วนและทุกระดับให้สามารถนำหลักปรัชญาฯ ไปประยุกต์ใช้ในลักษณะที่สอดคล้องกับหน้าที่และบทบาทของแต่ละบุคคลได้อย่างเหมาะสม และท้ายที่สุดนำไปสู่การปลูกฝังปรับเปลี่ยนจิตสำนึกและกระบวนทัศน์ในการดำรงชีวิตตามแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนนำไปสู่การปรับระบบ และโครงสร้างการพัฒนาให้อยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้ ยุทธวิธีในการขับเคลื่อนจะมีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนและชัดเจน
๒.๒ แผนการดำเนินการ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้น การสร้างขบวนการขับเคลื่อนฯ จะมีขอบเขตการดำเนินงาน ๔ แผนงาน ควบคู่กันไปดังนี้
แผนงานเชื่อมโยงเครือข่ายเรียนรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง โดยสร้างแกนกลางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อทำหน้าที่ขยาย เชื่อมโยง และพัฒนาเครือข่ายแห่งการเรียนรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนสนับสนุนความร่วมมือระหว่างเครือข่าย ให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ร่วมกัน เพื่อให้สามารถเผยแพร่ให้ประชาชนในภาคส่วนต่างๆ นำเศรษฐกิจพอเพียง ไปประยุกต์ใช้ และขยายผลได้อย่างต่อเนื่อง
 แผนงานพัฒนาวิชาการและส่งเสริมการศึกษาวิจัย โดยพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงในด้านต่างๆ ที่ชี้ให้เห็นแนวทาง วิธีการ ตลอดจนประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการใช้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต การพัฒนาวิชาการจะเน้นการวิจัยเชิงนโยบาย เพื่อให้มีแนวทางเลือกในการพัฒนาที่อยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่ และการสร้างระบบเตือนภัยเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในสังคม
แผนงานสร้างหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ โดยสร้างรูปแบบของกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายและเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ เช่น ผู้บริหาร ผู้นำชุมชน วิทยากรกระบวนการ ครู ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ นักการเมือง เป็นต้น ให้มีโอกาสไตร่ตรองและเรียนรู้จากการปฏิบัติ จนสามารถตระหนักถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ แล้วเกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ น้อมนำเอาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิตต่อไป ทั้งนี้ การสร้างรูปบบกระบวนการเรียนรู้นี้ จะเน้นการร่วมคิด ร่วมทำเพื่อหารูปแบบ การหาตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม และเหมาะสม ตลอดจนสร้างความพร้อมของแต่ละกลุ่มเป้าหมายให้สามารถนำไปดำเนินการต่อได้เองอย่างต่อเนื่อง
แผนงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และรณรงค์เพื่อสร้างกระแสสังคม โดยสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงในวงกว้าง ปลูกฝังค่านิยม และสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนคำนึงถึงหลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต ทั้งนี้ กลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่จะต้องมีวิธีการและรูปแบบในการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งสอดคล้องกับเนื้อหาและแนวคิดของหลักปรัชญาฯ
๒.๓ กลไกการดำเนินการ
       การสร้างขบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงจำเป็นต้องมีแกนกลางในการขับเคลื่อนฯ และเป็นกลไกหลักในการบริหารจัดการ ทั้งนี้ การจัดการควรจะอยู่ในรูปแบบมูลนิธิเพื่อความมีประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการระดมพลังและทรัพยากรจากทุกภาคส่วน โครงสร้างการบริหารจัดการจะเป็นกลไก ๓ ระดับ ดังนี้
       ระดับที่ ๑ คณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิเศรษฐกิจพอเพียง ทำหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะ เชิงแนวทาง และข้อพึงพิจารณาในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง
       ระดับที่ ๒ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำหน้าที่ประสานเครือข่ายทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติให้เกิดการนำเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในภาคส่วนต่างๆของสังคม กำหนดกลยุทธ์และกิจกรรมหลักๆของการดำเนินงาน ตลอดจนจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมภายใต้แผนงานในการสร้างขบวนการขับเคลื่อนฯ และให้คำแนะนำในการปฏิบัติงาน
       ระดับที่ ๓ ส่วนเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นหน่วยหนึ่งภายในสำนักงานฯ ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ และเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงเบื้องต้นของเครือข่าย ดำเนินการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวทางที่คณะอนุกรรมการฯ ให้ความเห็นชอบ และรับผิดชอบการดำเนินงานในภาคปฏิบัติ ตลอดจนการบริหารจัดการทั่วไป
๒.๔ ระยะเวลาดำเนินการและงบประมาณ
       การดำเนินการขับเคลื่อนฯ มีระยะเวลาในการดำเนินการทั้งสิ้น ๔ ปี ๓ เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๔๖ ถึงเดือนธันวาคม ๒๕๕๐ โดยจะแบ่งการดำเนินการออกเป็น ๒ ระยะ เพื่อประเมินผลการดำเนินการและปรับแนวทางการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความก้าวหน้า โดยจะเผยแพร่ผลการดำเนินงาน ระยะที่หนึ่ง ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๘ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสครบรอบวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครบ ๕๕ ปี ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร และจะทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายผลการดำเนินงานระยะที่สองเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ครบรอบ ๘๐ พรรษา ในเดือนธันวาคม ๒๕๕๐ ทั้งนี้ ประมาณการงบประมาณในการดำเนินงานตาม ๔ แผนงานข้างต้น ตลอดระยะเวลา ๔ ปี ๓ เดือน รวมทั้งสิ้น ๑๒๐ ล้านบาท
       ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงนี้ จะเป็นการเสริมพลังในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่เน้นการพึ่งตนเอง และการอยู่ได้อย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรีในเวทีโลก เพราะแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับ การเสริมสร้างฐานเศรษฐกิจและสังคมในระดับรากหญ้าให้เข้มแข็ง ในขณะที่ส่งเสริมการพัฒนาประเทศให้มีเสถียรภาพในระดับระหว่างประเทศ สามารถปรับตัว เลือกรับสิ่งที่เป็นประโยชน์ และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆจากทั้งภายในและภายนอกประเทศได้ และนำไปสู่ความอยู่ดีมีสุขของคนไทยในที่สุด

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ที่มา : http://suffecon.lib.cmu.ac.th/?q=node/1
ที่มา : http://www.sufficiencyeconomy.org/old/show.php?Id=2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น